ทีมชาติเวลส์: ความสำเร็จที่สร้างขึ้นใน 12 ปี | TunGame
เดือนธันวาคม 2010 ในขณะที่ “ประเทศกาตาร์” เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก 2022″ นั้น “ทีมชาติเวลส์” อยู่ที่อันดับ 112 ของโลกในตาราง FIFA Ranking และห่างหายจากเวที “ฟุตบอลโลก” ไปแล้วถึง 52 ปีในเวลานั้น
ผ่านไป 12 ปี “ทีมชาติเวลส์” สามารถถีบตัวเองจากอันดับ 112 ของโลก มาสู่ อันดับ 18 ของโลกในปี 2022 และที่สำคัญที่สุดคือการคว้าตั๋วไปเล่น “ฟุตบอลโลก 2022” รอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ได้สำเร็จ ถือเป็นการได้เข้าร่วมศึก “ฟุตบอลโลก” เป็นครั้งแรกในรอบ 64 ปี และนับเป็นการได้ไปเล่น ฟุตบอลโลก เป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ชาติเวลส์
อะไรที่ทำให้ ทีมชาติเวลส์ สามารถถีบตัวเองได้อย่างก้าวกระโดดขนาดนี้ในเวลาเพียง 12 ปี จนกลายเป็น “ยุคทองของ ทีมชาติเวลส์”

ครึ่งศตวรรษที่สูญหายของ “ทีมชาติเวลส์”
ทีมชาติเวลส์ เคยได้ไปร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นใน ฟุตบอลโลก 1958 ที่ประเทศสวีเดน โดยในครั้งนั้น ทีมชาติเวลส์ สามารถไปได้ไกลที่สุดแค่เพียงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะโดน ทีมชาติบราซิล เขี่ยตกรอบ 1-0 จากประตูแจ้งเกิดของ เปเล่ ตำนานแห่งโลกลูกหนังที่ในขณะนั้นมีอายุเพียง 17 ปี
และหลังจากที่เป็นเหยื่อรายแรกของ “ไข่มุกดำ” เปเล่ ใน ฟุตบอลโลก 1958 ทีมชาติเวลส์ ก็ไม่สามารถพาตัวเองไปร่วมฟุตบอลรายการเมเจอร์ทัวร์นาเมนต์ได้อีกเลยเป็นเวลากว่า 50 ปีไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลยูโร หรือ ฟุตบอลโลก
การไม่ได้เข้าร่วมรายการเมเจอร์ทัวร์นาเมนต์เป็นเวลานานเข้า ผู้คนก็เริ่มหมดหวัง และความนิยมกีฬาฟุตบอลใน ประเทศเวลส์ ก็ค่อยๆลดลงตามกาลเวลา กลายเป็นกีฬารักบี้ที่ขึ้นมาแทนในฐานะกีฬาประจำชาติที่ผู้คนให้ความหวังและความสนใจ
แม้ว่าจะมีนักเตะสัญชาติเวลส์บางคนที่โด่งดังจนเป็นดาวเตะระดับโลกอย่าง ไรอัน กิ๊กส์ หรือ เอียน รัช แต่ก็ไม่มีใครที่สามารถพา ทีมชาติเวลส์ ให้กลับขึ้นมาจากหลุมได้เลย
การมาของ “แกรี่ สปีด” จุดเปลี่ยนสำคัญของ “ทีมชาติเวลส์”
หลังจากที่ ทีมชาติเวลส์ ตกต่ำอยู่เป็นเวลาช้านาน ในที่สุดพวกทิศทางของทัพมังกรแดงก็เริ่มกลับหัว เมื่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศเวลส์ แต่งตั้ง แกรี่ สปีด อดีตนักเตะคนสำคัญของทีมชาติเวลส์ ผู้เคยโลดแล่นอยู่บนเวที พรีเมียร์ลีก อังกฤษ กว่า 18 ปีเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติเวลส์ในปี 2010
แกรี่ สปีด ไม่ใช่ผู้จัดการทีมที่นำแผนการเล่นที่สุดล้ำมาเป็นแนวทางในการเล่นให้กับ ทีมชาติเวลส์ แต่ สปีด เป็นผู้จัดการทีมคนแรกที่เข้ามาเพื่อจะเปลี่ยนแปลงการจัดการทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านของ ทีมชาติเวลส์
ยกระดับความเป็นมืออาชีพ – จากประสบการณ์บนเวที พรีเมียร์ลีก อังกฤษ กว่า 18 ปีกับการลงเล่น 614 นัด ทำให้ แกรี่ สปีด เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของระดับความเป็นมืออาชีพในการจัดการระหว่าง ทีมฟุตบอลระดับสูง กับ ทีมชาติเวลส์
ในอดีตนั้น การจัดการของ ทีมชาติเวลส์ แย่ถึงขั้นที่ว่าทีมฟุตบอลทีมชาติที่มีนักเตะระดับ ไรอัน กิ๊กส์ หรือ แกรี่ สปีด ที่ค้าแข้งอยู่กับสโมสรใหญ่ๆ ใน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่ต้องไปเก็บตัวฝึกซ้อมในสถานที่ของเรือนจำ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันให้ทีมชาติ เพราะไม่มีศูนย์ฝึกซ้อมประจำชาติที่ได้มาตรฐานไว้รองรับให้นักกีฬา
แกรี่ สปีด เล็งเห็นว่าการที่ ทีมชาติเวลส์ ขาดสิ่งพื้นฐานที่ทีมฟุตบอลอาชีพควรมีไม่ว่าจะเป็น สนามซ้อมที่ได้มาตรฐานที่มีที่พักและมีฟิตเนสส่วนตัว, อุกปรณ์การฝึกซ้อมต่างๆ, รวมไปถึงการมีโภชณาการที่ดี จะไม่สามารถทำให้ ทีมชาติเวลส์ ยกระดับทีมต่อไปได้ ฉะนั้นก่อนที่จะให้ ทีมชาติเวลส์ มีผลงานที่ดีในสนาม สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศเวลส์ ต้องเริ่มจากการจัดการนอกสนามก่อน นักเตะระดับ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถึงจะอยากกลับมารับใช้ชาติอย่างภาคภูมิใจ
มีคุณค่าร่วมกัน – แกรี่ สปีด เป็นผู้จัดการที่เริ่มใช้คำขวัญ “Together Stronger” กับ ทีมชาติเวลส์ เพื่อให้คำๆ นี้เป็นคุณค่าที่ยึดเหนี่ยวทั้ง นักเตะ, ทีมงานสตาฟโค้ช, และแฟนบอลเข้าด้วยกัน ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน
แม้ แกรี่ สปีด จะจากโลกนี้ไปในช่วงปลายปี 2011 จากการปลิดชีพตัวเอง แต่สิ่งต่างๆ ที่ แกรี่ สปีด ได้ริเริ่มนั้น ถือเป็นแนวทางที่ทรงคุณค่าต่อ ทีมชาติเวลส์ ที่ผู้จัดการทีมคนต่อไปอย่าง คริส โคลแมน นำไปสานต่อ
การสานต่อสปิริต “ทีมชาติเวลส์” ที่ยอดเยี่ยมของ “คริส โคลแมน”
คริส โคลแมน เข้ามาสานต่องาน ผู้จัดการทีมชาติเวลส์ ของ แกรี่ สปีด ในช่วงปี 2012 โดยยังคงยึดกับหลัก “Togerther Stronger” ที่ สปีด ได้เริ่มไว้
คริส โคลแมน ให้ความสำคัญกับความหมายของการเล่นเพื่อชาติ โคลแมน สื่อสารกับทั้งนักเตะและสตาฟทุกคนถึงความสำคัญของการมาเล่น ทีมชาติเวลส์ ในฐานะคนเวลส์ มันคือการมาสู้ร่วมกันโดยที่ไม่มีใครถือเป็นดาวดังเหนือคนอื่น แต่ทุกคนคือนักฟุตบอลที่มาร่วมสู้ไปด้วยกันเพื่อชาติเวลส์
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดถึงสปิริตที่ยอดเยี่ยมที่ถูกสร้างขึ้นใน ทีมชาติเวลส์ ยุคนี้คือในกรณีของ แกเร็ธ เบล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แกเร็ธ เบล คือหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดในโลก และระดับฝีเท้าของ แกเร็ธ เบล นั้นห่างจากเพื่อนร่วมทีมชาติเวลส์หลายขุม แต่นักเตะระดับ แกเร็ธ เบล กลับมีความกระตือรือร้นทุกครั้งที่ได้รับใช้ทีมชาติเวลส์ร่วมกับเพื่อนร่วมทีม เบล แทบจะไม่เคยพลาดการรวมตัวของทีมชาติ แม้กระทั้งเวลาที่เขาบาดเจ็บ เบล ก็จะมาอยู่ร่วมกับทีมหรืออยู่บนอัฒจันทร์เพื่อให้กำลังเพื่อนร่วมทีมเสมอ
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องตอกย้ำความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ คริส โคลแมน สร้างไว้ให้ ทีมชาติเวลส์ ที่ทุกคนอยากเข้ามามีส่วนร่วม รวมไปถึงนักเตะระดับโลกอย่าง แกเร็ธ เบล
“ยูโร 2016” เมเจอร์ทัวร์นาเมนต์แรกในรอบ 58 ปีของ “ทีมชาติเวลส์”
หลังจากที่ปั้น ทีมชาติเวลส์ ทั้งในและนอกสนามตั้งแต่ปี 2012 ในที่สุด คริส โคลแมน ก็สามารถพา ทีมชาติเวลส์ ไปเล่นฟุตบอลเมเจอร์ทัวร์นาเมนต์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 58 ปีด้วยการผ่ายไปเล่น ยูโร 2016 รอบสุดท้ายที่ประเทศฝรั่งเศส
และที่มากไปกว่าการได้เข้าร่วม ยูโร 2016 ที่รอคอยแล้ว ทีมชาติเวลส์ ยังทะลุไปถึงรอบรองชนะเลิศได้แบบที่ไม่มีใครคาดคิด นับเป็นการปลุกศรัธทาให้กับแฟนบอลชาวเวลส์ทุกคนอย่างแท้จริง
แม้จะจบทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2016 ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ คริส โคลแมน ย้ำชัดกับทั้งนักเตะและแฟนบอลทุกคนว่า ยูโร 2016 เป็นเพียงก้าวสำคัญของเส้นทางที่จะไปเท่านั้น ไม่ใช่จุดจบของเรื่องราว โดย คริส โคลแมน ได้ให้สัมภาษณ์หลัง ยูโร 2016 ไว้ว่า
“ผู้คนคิดว่าการจบทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2016 ได้อย่างยอดเยี่ยมคือตอนจบที่สวยหรูของเรื่องราวของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยูโร 2016 เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเท่านั้น, ความสำเร็จใน ยูโร 2016 นี้เป็นบทเรียนที่สำคัญที่เราได้เรียนรู้ระหว่างทาง” แน่นอนว่าเป้าหมายใหญ่ของเส้นทางที่ คริส โคลแมน หมายถึงคงไม่ใช่เรื่องอื่นใด แต่เป็นการพา ทีมชาติเวลส์ กลับไปเล่น ฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายให้ได้
แม้ในที่สุด คริส โคลแมน ที่เป็นผู้จัดการทีมคนสำคัญที่สร้าง ทีมชาติเวลส์ ให้กลับมาเชิดหน้าชูตาจะไม่สามารถพาทีมไปเล่น ฟุตบอลโลก 2018 ได้และขอลาออกจากตำแหน่งไปในปี 2017 แต่รากฐานและโครงสร้างที่ คริส โคลแมน ได้สร้างเอาไว้เป็นเวลากว่า 5 ปี ก็แข็งแรงพอที่จะให้ผู้จัดการทีมคนอื่นมาสานต่อความสำเร็จ
“ฟุตบอลโลก 2022” เครื่องหมายตอกย้ำยุคทองของ “ทีมชาติเวลส์”
และแล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่ ทีมชาติเวลส์ สามารถผ่านเข้ารอบไปเล่น ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ โดยการนำทัพทีมของ ร็อบ เพจ ผู้จัดการทีมคนปัจจุบัน (ร็อบ เพจ รับหน้าที่ขัดตาทัพให้กับ ทีมชาติเวลส์ ตั้งแต่ปลายปี 2020 เนื่องจาก ไรอัน กิ๊กส์ ผู้จัดการทีมตัวจริงถูกสั่งพักงานหลังจากโดนจับกุมข้อหาคดีทำร้ายร่างกาย)
เหลังเกมที่ ทีมชาติเวลส์ ชนะ ทีมชาติยูเครน 1-0 พร้อมคว้าตั๋ว ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายได้สำเร็จ ร็อบ เพจ ได้ให้สำภาษณ์กับสื่อไว้ดังนี้
“แกรี่ สปีด เป็นคนเริ่มต้นความสำเร็จทั้งหมดนี้ เขาเป็นคนเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมและบรรยากาศของทีมชาติเวลส์เมื่อ 12 ปีที่แล้วก่อนที่พวกเราทุกคนจะมาสานต่อ, เราเปลี่ยนจากทีมที่ “หวัง” เป็นทีมที่ “เชื่อ” ว่าเราสามารถไปเล่นฟุตบอลยูโร หรือฟุตบอลโลกได้ นั้นคือทัศนคติที่ยอดเยี่ยมที่ แกรี่ สปีด ได้ฝากไว้ และผมขออุทิศความสำเร็จนี้แก่ แกรี่ สปีด” ความสำเร็จของ ทีมชาติเวลส์ ที่ริเริ่มโดย แกรี่ สปีด สานต่อโดน คริส โคลแมน, ไรอัน กิ๊กส์, และร็อบ เพจ คือเส้นทางที่ปะติดปะต่อกันในระยะเวลา 12 ปี
แม้ว่าความสำเร็จ ณ จุดนี้ของ ทีมชาติเวลส์ จะไม่สามารถเทียบกับความสำเร็จของทีมชาติยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น ทีมชาติบราซิล หรือ ทีมชาติเยอรมัน ได้ แต่การถีบตัวเองจากทีมที่โลกลืมกลายมาเป็นกลายเป็นทีมที่ใครหน้าไหนก็ประมาทไม่ได้ การได้เล่นเมเจอร์ทัวร์นาเมนต์เป็นครั้งแรกในรอบ 58 ปีและทะลุถึงรอบรองชนะเลิศได้ใน ยูโร 2016 และการคว้าตั๋ว ฟุตบอลโลก 2022 ในรอบ 64 ปี ก็ถือเป็นความสำเร็จที่บอกได้ว่า นี่คือ “ยุคทอง” ที่แท้จริงของชาติเล็กๆ อย่าง “ทีมชาติเวลส์”

จารย์ต้น
แชร์เนื้อหา