Vision 2030: แผนการระยะยาวของเชลซี | TunGame

Vision 2030

นับตั้งแต่ที่ท็อดด์ โบห์ลี่เข้ามาเทคโอเวอร์เชลซี เค้าได้ใช้จ่ายเงินมากมายมหาศาลเพื่อยกระดับทีม และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือการระดมซื้อดาวรุ่งมากพรสวรรค์จากทั่วทุกมุมโลก โดยยึดจากแผน Vision 2030 ที่เชลซีกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งแฟนบอลหลายคนอาจจะคุ้นๆกันบ้าง บทความนี้เราจะมาอธิบายว่า Vision 2030 นี้มันคืออะไรกันแน่

ความหมายของ Vision 2030

แผนการนี้จริงๆแล้วได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ก่อนที่เชลซีจะประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2021 ซึ่ง Vision 2030 เป็นชื่อโปรเจกต์ที่เชลซีวางเอาไว้สำหรับอคาเดมี่ของสโมสร โดยเป็นการสอดส่องและซื้อนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบอคาเดมี่ โดยเป้าหมายหลักก็คือให้นักเตะเหล่านี้เข้ามาทดแทนนักเตะชุดใหญ่ในอนาคต นอกจากนั้นยังจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันกับนักเตะลูกหม้อของทีม เพื่อช่วยกันยกระดับฝีเท้าให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

โดยหลังจากที่มีนักเตะจากอคาเดมี่ของทีมหลายคนก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักในทีมชุดใหญ่ได้ เช่น รีซ เจมส์, เมสัน เมาท์ เชลซีจึงต้องการสานต่อความสำเร็จนั้น ด้วยการผลักดันนักเตะจากอคาเดมี่ชุดใหม่นี้ให้พร้อมสำหรับทีมชุดใหญ่เมื่อเวลามาถึง นอกจากนั้นยังมีนักเตะอายุต่ำกว่า 23 ปีอีกหลายคนที่พร้อมเล่นทีมชุดใหญ่ทันทีที่ทีมสิงโตน้ำเงินครามทุ่มเงินซื้อเข้ามา ซึ่งนักเตะเหล่านั้นก็อยู่ในแผน Vision 2030 นี้เช่นกัน

ใครอยู่เบื้องหลัง Vision 2030

ในปี 2019 เจ้าของทีมและกุนซือในเวลานั้นคือ โรมัน อบราโมวิช กับ แฟรงค์ แลมพาร์ด ได้มีการวางแผนร่วมกันถึงโปรเจกต์นี้ แต่คนที่เป็นหัวเรือใหญ่ของโปรเจกต์นี้อย่างแท้จริงคือ นีล บาธ ซึ่งในตอนนั้นอยู่ในตำแหน่ง Head of youth development ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ดูแลอคาเดมี่ของสโมสร

ซึ่งความสำเร็จที่ผ่านมาของบาธก็คงไม่ต้องอธิบายกันอีก เมื่อนักเตะจากค็อปแฮมหลายต่อหลายคนที่บาธเป็นคนดูแลต่างมีเส้นทางการค้าแข้งที่ดี และถึงแม้บางคนจะไม่ได้อยู่กับทีมอีกต่อไป แต่ก็สามารถทำเงินให้ทีมสิงโตน้ำเงินครามได้มากมายจากค่าตัวของพวกเค้า

ถึงแม้ว่าอบราโมวิชจะอำลาทีมไปในปี 2022 แต่เจ้าของใหม่อย่างโบห์ลี่ก็ไม่ได้ละทิ้งโปรเจกต์นี้แต่อย่างใด หนำซ้ำเค้ายังเร่งแผน Vision 2030 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเฟ้นหาดาวรุ่งเข้าสู่ทีมหลายคน เช่น คริสโตเฟอร์ วิเวลล์ (Technical Director จากแอร์เบ ไลป์ซิก), โจ ชิลด์ (Director of Recruitment and Talent จากเซาแธมป์ตัน)

นักเตะดาวรุ่งที่ถูกซื้อเข้าในแผน Vision 2030

ท็อดด์ โบห์ลี่ได้ใช้เงินไปไม่น้อยกับนักเตะดาวรุ่งที่จะเข้ามาอยู่ในอคาเดมี่ของสโมสรรวมถึงนักเตะอายุต่ำกว่า 23 ปีในทีมชุดใหญ่ นักเตะเหล่านั้น ได้แก่
โอมารี ฮัตชินสัน จากอาร์เซน่อล ฟรี
กาเบรียล สโลนิน่า จากชิคาโก้ ไฟร์ 8 ล้านปอนด์
คาร์นี่ย์ ชุคเวเมก้า จากแอสตัน วิลล่า 20 ล้านปอนด์
เชซาเร่ คาซาเด จากอินเตอร์ มิลาน 13 ล้านปอนด์
เวสลี่ย์ โฟฟาน่า จากเลสเตอร์ ซิตี้ 69 ล้านปอนด์
ดาวิด ดาโตร โฟฟาน่า จากโมลด์ 10 ล้านปอนด์
เบอนัวต์ บาเดียชิล จากโมนาโก 32 ล้านปอนด์
อันเดร ซานโต๊ส จากวาสโก ดา กาม่า 11 ล้านปอนด์
มิไคโล มูดริค จากชัคห์ตาร์ โดเน็ตส์ 88 ล้านปอนด์
โนนี่ มาดูเอเก้ จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น 29 ล้านปอนด์
มาโล กุสโต้ จากโอลิมปิก ลียง 32 ล้านปอนด์
เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ จากเบนฟิก้า 105 ล้านปอนด์

ซึ่งแค่เงินสำหรับซื้อนักเตะดาวรุ่งเหล่านี้นั้นมากมายมหาศาลจนสามารถเทคโอเวอร์สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้เลยด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของโบห์ลี่ในการสร้างเชลซียุคใหม่ภายใต้แผน Vision 2030 นี้ได้เป็นอย่างดี

ผลพลอยได้ของ Vision 2030

แน่นอนว่าเชลซีคงยังไม่หยุดเสริมทัพนักเตะดาวรุ่งเพียงเท่านี้ และก็คงจะไม่ใช่นักเตะทุกคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักในทีมชุดใหญ่ได้ แต่ด้วยค่าตัวที่ไม่มากรวมถึงอายุที่ยังน้อย ก็มีโอกาสสูงมากที่ทีมสิงโตน้ำเงินครามจะได้กำไรจากการขายนักเตะเหล่านี้ในอนาคต ซึ่งผลพลอยได้ที่ว่ามานี้ก็จะใกล้เคียงกับระบบ Loan Army ที่เชลซีใช้มาตลอด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่แต่อย่างใด

กูโจเค

กูโจเค

หมาป่าเดียวดายผู้มีสายเลือดฟุตบอลอยู่ในตัว

แชร์เนื้อหา