การดัดแปลงพันธุกรรมลูกหนังของทีมชาติอิตาลี” โดย โรแบร์โต้ มันชินี่ | TunGame

“ทีมชาติอิตาลี” ภายใต้การนำทัพของกุนซืออย่าง “โรแบร์โต้ มันชินี่” เปิดตัวด้วยฟอร์มอันร้อนแรงในการแข่งขัน“ยูโร 2020” ครั้งนี้ นอกจากฟอร์มอันสวยหรูแล้วสิ่งที่เป็นที่ฮือฮาสำหรับแฟนบอลทั่วโลกคือสไตล์การเล่นฟุตบอลที่เปลี่ยนไปของทัพ “อัซซูรี่” ชุดนี้ที่เปิดเกมรุกใส่คู่แข่งแบบที่แฟนบอลไม่เคยได้เห็นจาก ทีมชาติอิตาลี ชุดไหนมาก่อน อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ โรแบร์โต้ มันชินี่ ต้องทำการ “ดัดแปลงพันธุกรรมลูกหนังของทีมชาติอิตาลี” และทีมชาติอิตาลีโฉมใหม่ที่ว่า เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

“คาเตนัชโช่” พันธุกรรมลูกหนังของฟุตบอลอิตาลี

หากพูดถึง “ทีมชาติอิตาลี”หรือฟุตบอลอิตาลี เอกลักษณ์อย่างแรกที่แฟนบอลทุกคนจะต้องนึกถึงคือฟุตบอลสไตล์ “คาเตนัชโช่” หรือฟุตบอล “โคตรเกมรับ” ที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยของ ทัพอัซซูรี่ก็เน้นตั้งรับอย่างเหนียวแน่นไว้ก่อนแล้วอาศัยแทคติกต่างๆในการหาโอกาสทำประตูคู่แข่ง

“คาเตนัชโช่” เป็นวิถีที่หยั่งรากลึกอยู่ในวงการฟุตบอลอิตาลีมาตั้งแต่ยุค1960 จนเรียกได้ว่าเป็น “DNA” หรือ “พันธุกรรม” ของฟุตบอลอิตาลี

ทำไมฟุตบอล “คาเตนัชโช่” จึงไม่ได้ผลเหมือนเดิม

ด้วยความที่ว่าฟุตบอล “คาเตนัชโช่” คือการเน้นตั้งรับอย่างเหนียวแน่นเป็นหลัก ฉะนั้นการอาศัยความสามารถและประสบการณ์ของเหล่ากองกลางและตัวรุกในการสร้างสรรค์โอกาสทำประตูจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในฟุตบอลวิถีนี้

ยกตัวอย่างเช่นในปี 2006 ที่ทีมชาติอิตาลี คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก สมัยที่ 4 มาครองได้ขุมกำลังของพลพรรคอัซซูรี่ ชุดนั้นประกอบไปด้วยเหล่ายอดกองกลางอย่าง อันเดรียปีร์โล่, เจนนาโร่ อัตตูโซ่, ดานิเอเล่เด รอสซี่, เมาโร คาโมราเนซี่ ส่วนในแผงกองหน้าประกอบไปด้วยผู้เล่นระดับพระการล้นทีมไล่ตั้งแต่อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่, ฟรานเชสโก้ ต๊อตติ, ลูก้า โทนี่, วินเชนโซ่ ยาควินต้า, อัลแบร์โต้จิลาร์ดิโน่, และฟิลิปโป้อินซากี้

ซึ่งผู้เล่นกองกลางและกองหน้าเหล่านี้นี่แหละ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์โอกาสและหาจังหวะทำประตูจนพาให้ ทีมชาติอิตาลี ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์โลกมาครองได้

แต่เมื่อผ่านพ้นความสำเร็จในปี 2006 ไปแล้ว วงการฟุตบอลอิตาลีไม่สามารถผลิตนักฟุตบอลที่มีคุณภาพ และความสามารถเพียงพอที่จะเล่นฟุตบอลสไตล์คาเตนัชโช่ ให้ประสบความสำเร็จได้อีกต่อไป และผลงานของ ทีมชาติอิตาลี ก็ค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ

“ยุคมืด” ของทีมชาติอิตาลี

เมื่อปลายปี 2017 “ทีมชาติอิตาลี” ได้เข้าสู่ “ยุคมืด” ของหน้าประวัติศาสตร์ลูกหนังแห่งชาติเมื่อไม่สามารถผ่านการคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลกปี 2018 ที่ประเทศรัสเซียนับเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ที่ทัพ “อัซซูรี่” ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย นับตั้งแต่ปี 1958 ความล้มเหลวในครั้งนั้นโหดร้ายและยากเกินกว่าที่ประชาชนชาวอิตาลีที่หายใจเข้าและออกเป็นฟุตบอลจะรับไหว

การเข้ามารับตำแหน่งกุนซือ ทีมชาติอิตาลี ของ โรแบร์โต้มันชินี่ ในปี 2018 จึงไม่ใช่แค่การรับงานคุมทีมธรรมดาแต่มันคือ “ภารกิจกู้ชาติและศรัทธา”ของชาวอิตาเลี่ยนทุกคน และ “การดัดแปลงพันธุกรรมลูกหนังของทีมชาติอิตาลี” จึงเริ่มต้นขึ้น

จาก “ต้นตำหรับเกมรับ” สู่ “ฟุตบอลเกมรุก”

ความล้มเหลวของ ทีมชาติอิตาลี ทำให้โค้ชทีมชาติคนใหม่อย่าง “โรแบร์โต้ มันชินี่” มองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีฟุตบอลของอิตาลี

“ทีมชาติของเราเผชิญกับความตกต่ำที่สุดในรอบ 60ปี, แต่พวกเรายังไม่ตายจิตวิญญาณของทีมชาติอิตาลียังคงอยู่ เพียงแต่เราต้องทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิม” มันชินี่ ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนที่เพิ่งเข้ามารับงานในปี 2018

โรแบร์โต้ มันชินี่ เริ่มปฏิบัติการดัดแปลงพันธุกรรมลูกหนังอิตาลีด้วยการนำระบบ 4-3-3 มาใช้กับทีมชาติอิตาลี ชุดปัจจุบัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการล้างตัวตนเก่าของทีมอัซซูรี่ที่แต่เดิมคิดจะตั้งรับไว้ก่อน ไปสู่การเล่นฟุตบอลที่เปิดเกมรุกใส่คู่แข่งเต็มตัว

-โรแบร์โต้มันชินี่ กล้าที่จะให้แผงกองหลังดันขึ้นสูงและกล้าที่ครองบอลในแดนคู่แข่งตลอดทั้งเกม แบบที่ไม่เคยมีทีมชาติอิตาลีชุดไหนทำมาก่อน

-เมื่อเสียการครอบครองบอลเมื่อไหร่นักเตะทีมชาติอิตาลี จะเข้ากดดัน เพรสซิ่งคู่แข่งเพื่อแย่งบอลกลับมาครอบครองต่อในทันทีหรือหากสามารถตัดบอลได้แล้วสบช่องทางการทำประตูก็จะเข้าทำอย่างรวดเร็วทันทีเหมือนประตู 3 – 0 ของ ลอเรนโซ่ อินซินเย่ ในนัดเปิดสนามยูโร 2020 ที่ทีมชาติอิตาลี เปิดบ้านถล่ม ทีมชาติตุรกี

-ที่สำคัญกว่าการครอบครองบอลแล้วทีมชาติอิตาลี ชุดนี้ยังพยายามหาจังหวะเข้าทำประตูตลอดเวลา โดยใน 2 เกมแรกของศึก ยูโร 2020 ที่ทีมชาติอิตาลีหาโอกาสทำประตูได้ถึง 37 ครั้ง และทำได้ถึง 6 ประตูใน 2 เกม

-และหากจะนับย้อนไป29 เกมหลังสุดที่พวกเขา “ไม่แพ้ใครเลย” ทีมชาติอิตาลี ทำไปถึง 81 ประตูใน 29 เกมดังกล่าว เป็นค่าเฉลี่ยในการทำประตู 2.7ลูกต่อเกม ซึ่งถือว่าสูงมากๆ

-หนึ่งเอกลักษณ์เดิมของทีมชาติอิตาลี ที่ โรแบร์โต้ มันชินี่ ยังคงนำมาปรับใช้คือศิลปะในการทำเกมรุกที่หลากหลายจับทางยาก และไม่ฝากความหวังในการทำประตูไว้ที่กองหน้าเพียงคนเดียว โดยในทีมชาติอิตาลีชุดนี้ร่วมกันสร้างเกมบุกตั้งแต่ – เซ็นเตอร์แบ็คอย่างเลโอนาร์โด้ โบนุชชี่ ที่มีความสามารถในการออกบอลที่มีคุณภาพทั้งสั้นและยาว -แบ็คซ้ายที่เติมเกมดั่งปีกอย่าง เลโอนาร์โด สปินาซโซล่า – กองกลาง box to box 2 ตัวที่คอยเติมเกมทั้งมานูเอล โลคาเตลลี่ และ นิโคโล่ บาเรลล่า – 3 ประสานในแดนหน้าที่ร่วมเล่นกันอย่างสามัคคีทั้งโดเมนิโก้ แบราร์ดี้, ชิโร่ อิมโมบิเล่ และลอเรนโซ่อินซินเย่

ที่กล่าวมานั้น คือทีมชาติอิตาลี “โฉมใหม่” ที่เรียกได้ว่าแตกต่างออกไปจากฟุตบอลอิตาลี ที่แฟนบอลเคยเห็นอย่างสิ้นเชิง

“จิตวิญญาณในเกมรับ”ยังคงอยู่

ถึงแม้แนวทางการเล่นจะเปลี่ยนไปเล่นเกมรุกอย่างชัดเจน แต่หากจะบอกว่าทีมชาติอิตาลี ได้ละทิ้งเกมรับไปแล้ว คงเป็นเรื่องที่ผิดที่สุด

โรแบร์โต้ มันชินี่ ปรับความเขี้ยวในการอุดเกมรับที่เคยมีให้กลายเป็นการไล่บดขยี้คู่แข่งตั้งแต่ในแดนของคู่ต่อสู้และหากมีโอกาสที่ต้องกลับมาตั้งเกมรับ พวกเขายังคงมีความเหนียวแน่นแข็งแกร่งเหมือนเดิม

การเก็บคลีนชีทในนัดล่าสุดที่พวกเขาถล่มทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ไป3 – 0 ทำให้ พลพรรคอัซซูรี่ ไม่เสียประตูมาแล้วถึง 9 เกมเป็นสถิติที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า “จิตวิญญาณในเกมรับ” ของทีมชาติอิตาลี ไม่ได้หายไปไหน และยังคงเป็น “พันธุกรรม” ที่ยังคงอยู่ในสายเลือดพวกเขา

“จุดอ่อน” และ “โอกาส” ในการคว้าแชมป์ของทีมชาติอิตาลี?

“ประสบการณ์” ยังคงถือว่าเป็นจุดอ่อนสำหรับทีมชาติอิตาลี ชุดนี้ เพราะการที่ทีมชาติอิตาลีห่างหายจากการทำผลงานได้ดีในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์มานานทำให้ผู้เล่นส่วนยังคงไม่มีประสบการณ์ในการสู้ศึกเวทีใหญ่ๆ

หากเทียบกับทีมอย่าง ทีมชาติเบลเยี่ยม หรือ ทีมชาติฝรั่งเศสที่พวกเขามีโอกาสเจอในรอบน็อคเอาท์แล้ว พลพรรคอัซซูรี่ยังถือว่าห่างประสบการณ์กับทีมอันดับ 3 และทีมแชมป์โลกหนล่าสุดอย่างมาก

และถึงแม้ว่าผลงานของพวกเขาจะโดนเด่นทั้งในเรื่องฟอร์มการเล่นและสถิติต่างๆตั้งแต่ โรแบร์โต้ มันชินี่ เข้ามาคุมทีม เมื่อ 3 ปีที่แล้วแต่คู่แข่งส่วนใหญ่ที่เจอก็เป็นทีมชาติที่ไม่ใช่ทีมระดับท๊อปของโลก การสู้ศึก ยูโร2020 ครั้งนี้จึงถือเป็น “บททดสอบที่แท้จริง”ของพวกเขา

ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว โรแบร์โต้ มันชินี่ จะพา ทีมชาติอิตาลีไปถึงฝั่งฝันด้วยการคว้าแชมป์ ยูโร 2020 หรือไม่ แต่เชื่อได้เลยว่าทัวร์นาเมนต์นี้จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลของพวกเขา ในฐานะ “การดัดแปลงพันธุกรรมลูกหนัง” ที่พาวงการฟุตบอลอิตาลีไปสู่วิถีใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกตลอดกาล

support

support

แชร์เนื้อหา