บทสัมภาษณ์แฟนปีศาจแดง | TunGame

บทความของเราวันนี้จะมาเล่าเรื่องราวจากแฟนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่ติดตามผลงานของทีมปีศาจแดงมามากกว่า 50 ปี มาร่วมเปิดประสบการณ์ครั้งนี้ไปพร้อมๆกันได้เลย
ยุคทีวีขาวดำ
ย้อนกลับไปตอนปี 2510 ทีวีช่อง 4 บางขุนพรมได้เสนอรายการฟุตบอลอังกฤษเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อรายการว่า “ฟุตบอลดารา” ซึ่งแปลตรงตัวมาจากชื่อรายการ Star Soccer จากอังกฤษ ออกอากาศวันอาทิตย์เที่ยงตรง ครั้งละ1ชั่วโมง คนพากย์คนแรกคือคุณพิชัย วาสนาส่ง ซึ่งสมัยนั้นคุณพิชัยเป็นผู้จัดรายการวิเคราะห์ข่าวต่างแดน ซึ่งเป็นรายการที่เอาข่าวจากต่างประเทศมาวิเคราะห์ แล้วเล่าให้ฟัง
แมทช์แรกที่ผมได้ดูคือ แมนยู-เชลซี สมัยนั้นทีวียังเป็นขาวดำ สีเสื้อแมนยูจะดูเป็นเทาสีอ่อนหน่อย ส่วนเชลซีจะดูมืด ครั้งแรกผมเห็นผู้เล่นแมนยูเบอร์11 รูปร่างเพรียว ทรงผมยาวประบ่ามีจอนยาว ใส่เสื้อออกนอกกางเกงยาวเกือบถึงปลายกางเกง ทางฝั่งเชลซีก็มีผู้เล่นเบอร์11 รูปร่างทรงผมเหมือนกันเป๊ะ คุณพิชัยพากย์ชื่อฝั่งแมนยูว่า ชาลี คุก ขณะเดียวกันฝั่งเชลซีเบอร์11 คุณพิชัยเรียกเป็น จอร์จ เบสต์ สักพักคุณพิชัย ก็ขอโทษว่าเรียกชื่อผิด สลับกัน
เมื่อผมได้ดูลีลาลากเลื้อยของจอร์จ เบสต์ ฝั่งแมนยูแล้วทำให้ถึงกับหลงใหล มันช่างสวยงาม เพลิดเพลินเจริญตา เบสต์เลี้ยงบอลผ่านคู่แข่งเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นการใช้การหักข้อเท้าพาบอลผ่านไป มันเป็นศิลปะที่งดงามมากๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ปีศาจสีแดงอยู่ในร่างผมมานานมากกว่า 50 ปี จนถึงวันนี้ ผมยังไม่เคยเห็นนักเตะคนไหนในโลกนี้ ใกล้เคียงกับจอร์จ เบสต์ เลย
ความสุดยอดของจอร์จ เบสต์
พอเริ่มมีทีวีสีช่อง 3 ออกรายการฟุตบอลอังกฤษตอนเย็นวันอาทิตย์ คุณสุจิต สุนทรพิมลเป็นคนพากย์ เริ่มต้นรายการจะมีไฮไลท์เป็นการเลี้ยงลูกของจอร์จ เบสต์ ผ่านแบ็คของลีดส์ ยูไนเต็ดชื่อพอล เลเน่กับพอล เม็ดเล่ ติดทีมชาติอังกฤษทั้งคู่ พอเบสต์เลี้ยงผ่านแบ็คไปได้ จะยังไม่ไปไหนหยุดรอ รอให้แบ็คมาอีกเพื่อเลี้ยงหลบไปใหม่ ดูแล้วไม่เบื่อเลย ทุกวันนี้ลองค้นหาใน Youtube ยังไม่เคยเจอเลย คุณสุจิตพากย์บอลมันส์มาก เขามักจะใช้ประโยคว่า เทพบุตรมหาภัยก็มหาภัยเถอะน่า
เวลาเบสต์โดนคู่แข่งตามประกบแล้วโดนเสียบและโดนเตะหนักๆ แต่เบสต์ก็ยังผ่านไปได้ สมัยนั้นดูบอลอังกฤษ ต้องการดูแมนยูทีมเดียวเพื่อได้ดูเบสต์เล่นคนเดียว ยังมีภาพเบสต์ที่ติดตาอยู่หลายภาพ ที่พอจำได้เป็นภาพที่ยิงประตูผ่านกอร์ดอน แบงค์ ผู้รักษาประตูสโต๊ค ซิตี้ 2 ลูกในแมทช์เดียว ลูกแรกยิงด้วยซ้ายแสกหน้าเสาใกล้ อีกลูกเลี้ยงหลบกองหลังเหลือตัวต่อตัวกับโกล์ โยกหลอกแบงค์ให้หลงแล้วแปไปอีกทาง อีกแมทช์นึงเป็นเกมส์ทีมชาติอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือ ในรายการฟุตบอลสหราชอาณาจักร รวมเวลส์กับสก็อตแลนด์ด้วย เบสต์ในทีมไอร์แลนด์เหนือ ใช้เท้าเกี่ยวบอลขณะที่แบงค์กำลังเตะบอลออกจากมือ ลูกตกลงพื้นแล้วเบสต์เตะเข้าประตูไป แต่ผู้ตัดสินไม่ให้ ถือว่าเป็นการฟาวล์
อีกแมทช์นึงที่ได้มีโอกาสดูเต็ม120นาทีจากเทปคือ นัดชิงยูโรเปี้ยนคัพ 1968 ถ้าใครได้ดูจะเห็นเบสต์เล่นได้สุดยอด เลี้ยงผ่านผู้เล่นเบนฟิก้าและโดนเตะเป็นว่าเล่น ในทีมแมนยูแมทช์นั้น มีปีกอีกคนชื่อจอน แอสตัน จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับเบสต์ แอสตันอาศัยแต่ความเร็วแทงบอลแล้ววิ่งผ่านคู่แข่ง แต่ลูกบอลจะอยู่ติดเท้าของเบสต์ตลอดเวลาเลี้ยงผ่านคู่แข่ง เบสต์ยิงลูกที่สองโดยเลี้ยงหลบโกล์ในช่วงต่อเวลา โดยรับลูกโหม่งชงต่อมาจากไบรอัน คิดส์ ที่เปิดมาจากอเล็ก สเต็ปนี่ ผู้รักษาประตูของแมนยู จบเกมแมนยูชนะ 4-1 ลูกแรกบ๊อบบี้ ชาร์ลตันโหม่ง คิดส์อายุ 18 วันนั้นโหม่งลูกที่ 3 และปิดท้ายด้วยชาร์ลตันตะหวัดด้วยขวาจากการผ่านของคิดส์ด้านขวา และก็เป็นจอร์จ เบสต์ นั่นเองที่ได้รับบัลลังดอร์ในปี 1968 นั้น
มีอยู่ประโยคอมตะหนึ่งที่แมวมองของแมนยูส่งข้อความถึงเซอร์แม็ตต์ บัสบี้ หลังได้เห็นจอร์จ เบสต์ ตอนอายุ 12 ว่า “I found a genius” ข้อความนี้เป็นจริงทุกประการ ถ้าคุณได้มีโอกาสอย่างผมได้เห็นลีลาการเลี้ยงบอลและยิงประตู มีคำเดียวที่คู่ควรกับเบสต์นั่นก็คือ อัจฉริยะ
ยุคต่อมา
ผ่านยุค ชาร์ลตัน, เบสต์และลอว์ มาถึงยุคไอ้หนูแก้มแดง หลังจากขึ้นมาดิวิชั่น 1 จากการตกชั้นในปี 1974 ไปหนึ่งปี แมนยูเหลือแต่โกล์ อเล็ก สเต็ปนี่ จากยุคปลาย 60 ต้น 70 ยุคนี้ 1976-80 แมนยูเล่นด้วยสไตล์บุกแหลก นักเตะเด่นๆเช่น ปีก สตีฟ คอปเปล, กอร์ดอน ฮิลล์ กองกลาง แซมมี่ แมคอิลรอย, เจอร์รี่ ดาลี่ และกองหน้าอย่างสจ๊วร์ต เพียร์สัน เคยอยู่หัวตารางโดยผู้จัดการอย่างทอมมี่ โดเคอร์ตี้ แต่สุดท้ายแผ่วปลาย
ได้เข้าชิงเอฟเอคัพในปี 1976 กับเซาแธมป์ตันจากดิวิชั่น 2 และแพ้ไปด้วยสกอร์ 0-1 ยุคนั้นยังไม่มีถ่ายทอดสดดิวิชั่น 1 แต่ทุกปีจะได้ดูสดนัดชิงเอฟเอคัพ มีนัดรอบรองปี 1979 ยังอยู่ในความทรงจำ แมนยูกับลิเวอร์พูล มิกกี้ โทมัสโยนจากฝั่งซ้ายเข้ามาให้จิมมี่ กรีนฮอฟโหม่งประตูชัยเข้าไป พาทีมเข้าไปชิงกับอาร์เซน่อลแต่ก็แพ้ไป 2-3
สมัยนั้นทุกเช้าวันอาทิตย์ ต้องรีบไปที่ร้านหนังสือพิมพ์เพื่อเปิดดูผลบอลอังกฤษว่าแมนยูแพ้หรือชนะ ถ้าแพ้จะรู้สึกหดหู่ไปทั้งอาทิตย์เลย มีผู้เล่นหน้าใหม่โดยเฉพาะศุนย์หน้าที่ซื้อเข้ามา แมนยูมักจะซื้อกองหน้าที่กำลังดังที่สุดในอังกฤษเข้ามา เช่น เท็ด แม็คดูกัล, แกรี่ เบอร์เทิล, ปีเตอร์ ดาเวนพอร์ต, อลัน บราซิล แต่ก็มาดับทุกรายเมื่อมาอยู่แมนยู
พอมาปี 1982 ยุคของผู้จัดการคนใหม่รอน แอตคินสันมาพร้อมกับไบรอัน ร็อบสันจากเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน สไตล์การเล่นก็ไม่ต่างจากเดิม แต่ยังไปไม่ถึงฝันแชมป์ลีก มีดาวรุ่งกองหน้าจากอคาเดมี่ 2 รายได้แจ้งเกิด คือ มาร์ค ฮิวจส์และนอร์แมน ไวต์ไซด์ เมื่ออายุ 16 ปี ไวต์ไซด์ได้ชื่อว่าเป็นนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่ลงแข่งฟุตบอลโลกปี 1982 ในนามทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ ภาพที่ลูกยิงปั่นไซส์โป้งจากกรอบเขตโทษด้านขวาด้วยเท้าซ้ายของไวต์ไซด์ มุดเข้าเสาไกล เป็นประตูชัยให้แมนยูชนะเอฟเวอร์ตัน 1-0 ศึกเอฟเอ คัพในปี 1985 ยังอยู่ในความทรงจำเสมอ
ต่อด้วยยุคของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันในปี 1986 มีบางคนกล่าวว่าถ้าไม่มีลูกยิงประตูชัยของลี มาร์ตินในนัดชิงเอฟเอ คัพกับคริสตัล พาเลซ นัดรีเพลย์ปี 1990 ที่ทำให้แมนยูชนะบาร์เซโลน่า 2-1 คว้าแชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพในปี 1991 เซอร์อเล็กซ์อาจจะไม่ได้ทำทีมต่อจนได้แชมป์มากมาย ผมกลับมองว่านัดชิงกับพาเลซแมทช์แรก ลูกตวัดข้ามหัวของไบรอัน แมคแคลร์เข้าเขตโทษให้มาร์ค ฮิวจส์ยิงตามตีเสมอ 3-3 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ เพื่อแข่งกันใหม่ เป็นลูกเซฟอายุงานของเซอร์อเล็กซ์มากกว่า
“มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยเมื่อคนGenerationอย่างผมที่ได้มีโอกาสชมฟุตบอลตั้งแต่ยุคของจอร์จี้ เบสต์ จะเชียร์แมนยูจนถึงปัจจุบัน” แล้วคุณผู้อ่านหละ เหตุผลที่ทำให้คุณเลือกเชียร์ทีมฟุตบอลนั้นคืออะไรกันบ้าง ร่วมแสดงความคิดเห็นกันเข้ามาได้เลย

กูโจเค
แชร์เนื้อหา