ประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก: Twenty’s Plenty การประท้วงของแฟนบอลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี | TunGame

การประท้วงของแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีต่อตระกูลเกลเซอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องพอจะเข้าใจได้เนื่องจากแฟนบอลส่วนใหญ่อัดอั้นและต่อต้านตระกูลเกลเซอร์มานานแล้ว แต่การที่ผู้บริหารของ แมนฯ ยูไนเต็ด คิดที่จะให้ทีมไปเล่นศึก ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก เป็นการจุดชนวนให้ แฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มการประท้วงที่แข็งกร้าวมากขึ้น

นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของต่อโครงสร้างทีมแมนเชสเตอร์ หรือกระตุ้นให้แฟนบอลทีมอื่นๆ ที่ไม่พอใจเจ้าของทีมด้วย ลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้แก่สโมสรกันมากขึ้นก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี การประท้วงที่เกี่ยวข้องกับสถานะอำนาจของเจ้าของทีมในโลกทุนนิยม ที่ดูจากจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ในสโมสร ตระกูลเกลเซอร์ มีสิทธิ์ในการครอบครองสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดอย่างชอบธรรม การต้องแบ่งอำนาจให้แฟนบอลให้มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย (ไม่ได้กล่าวถึงประเทศแถวนี้เล้ย)

โดยการเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ อาจได้ผลที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ เรามาดูกันว่า การประท้วงของแฟนฟุตบอลอังกฤษ โดย แคมเปญที่มีชื่อว่า “Twenty’s Plenty” ก็เริ่มจากสิ่งเล็กๆ และสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อแฟนฟุตบอลฐานรากหญ้าด้วยสันติวิธีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

————–

หากเปรียบกีฬาชนชั้นสูงก็ต้อง กอล์ฟ หรือเทนนิส ที่ผู้เล่นและผู้ชมมักมีฐานะมีอันจะกิน ในขณะที่ ฟุตบอล เปรียบเสมือนกีฬาชนชั้นแรงงานในประเทศอังกฤษ

30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีกในปี 1992 ฟุตบอลอังกฤษก็ได้รับความนิยมในการรับชมอย่างแพร่หลาย เริ่มมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก มีเจ้าของทีมร่ำรวยจากต่างประเทศมาเทคโอเวอร์ ก็ได้เพิ่มความมั่งคั่งให้แก่สโมสรต่างๆเป็นอย่างมาก ทุกอย่างรุดหน้าไปมาก แต่คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กลับเป็น แฟนบอลท้องถิ่นของสโมสร ที่ต้องเห็นทีมรักของตัวเองถูกซื้อไปโดยนายทุน โดยหากได้นายทุนที่รักฟุตบอล พร้อมทุ่มให้สโมสรก็เหมือนหนูตกถึงข้าวสาร

และผลกระทบจากความนิยมของพรีเมียร์ลีกที่เพิ่มขึ้น ก็คือ ตั๋วเข้าชมเกมมีราคาสูงขึ้นจากความนิยมที่มากขึ้นและความต้องการที่สูงมากขึ้น ทำให้แฟนบอลรากหญ้าเดือดร้อนจากการขึ้นราคานี้

ลำพังแค่ตั๋วปีเพื่อเข้าชมเกมเหย้าก็อาจสูงถึงปีละ 1,000-2,000 ปอนด์ต่อฤดูกาลอยู่แล้ว ยังไม่นับการไปชมเกมเยือนนั้นยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่แฟนบอลพันธุ์แท้เหล่านี้ขึ้นไปอีก

นั่นจึงเกิดการไม่ทนแล้วของแฟนบอลต่อราคาตั๋วที่แพงขึ้น โดยเฉพาะการไปชมทีมรักในเกมนอกบ้าน และโครงการ Twenty’s Plenty จึงเกิดขึ้น

ก่อนที่จะไปถึง Twenty’s Plenty ขอไล่เรียงเหตุการณ์ที่เพื่อเรียกอรรถรส

“เยอรมัน โมเดล”

จุดเริ่มต้นอันโด่งดัง เกิดที่ประเทศ เยอรมัน ที่การประท้วงเริ่มจากความไม่พอใจในราคาตั๋วแฟนทีมเยือนที่มีราคาสูงเกินไป โดยแฟนบอลทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่เรียกร้องว่า สโมสรต่างๆควรลดค่าตั๋วทีมเยือนที่แพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น

โดยจุดพีค ก็คือนัดที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไปเยือนสตุ๊ตการ์ทที่ เมอร์เซเดส เบนซ์ อารีน่า ในนัดฟุตบอลถ้วยเยอรมันรอบ 8 ทีมสุดท้าย เหตุการณ์เกิดในนาทีที่ 20 แฟนบอลโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้ขว้างลูกเทนนิสลงไปในสนามอย่างห่าฝน เพื่อประท้วงราคาค่าตั๋วที่แพงจนรับไหว

จุดประสงค์ของการปาลูกเทนนิส ลงไปเพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ว่า แฟนฟุตบอลไม่มีตังพอจะซื้อตั๋วเข้าชมเกมเหมือนแฟนเทนนิสนะว้อย (เปรียบเปรยว่า เทนนิสคือกีฬาสำหรับชนชั้นคนรวย)

เหตุการณ์ต่อมายังเกิดกับทีมคู่แข่งอย่าง บาเยิร์น มิวนิค ในปี 2015

โดยเหตุการ์ณครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2015 ในรอบแบ่งกลุ่ม ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก เป็นการพบกันของ บาเยิร์น มิวนิค กับอาร์เซนอล เหตุการณ์ประท้วงเกิดจาก ราคาค่าตั๋วทีมเยือน ที่อาร์เซนอลเจ้าถิ่น ตั้งไว้ราคาเริ่มต้นสูงถึง 64 ปอนด์ การประท้วงเกิดขึ้นโดยเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 5 นาที แฟนบอลบาเยิร์น มิวนิค ราว 3,000 คน ก็ได้เดินออกจากสนามไปเพื่อทำการประท้วงต่อยูฟ่าและสโมสรต่างๆ

โดนแฟนบอล บาเยิร์น มิวนิค มีการแขวนแบนเนอร์ไว้เตือนใจว่า ตั๋วราคา 64 ปอนด์ แต่ไม่มีแฟนบอล ฟุตบอลก็ไม่มีค่าสักแดงเดียวหรอก

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดในปี 2017 เป็นนัด ยูฟ่า แชมเปียน ลีก โดยบาเยิร์น มิวนิค พบกับ อันเดอร์เลชท์ ระหว่างเก แฟนบอล บาเยิร์น มิวนิค คราวนี้เล่นแรงโยนเงินปลอมเข้ามาในสนาม เพื่อทำการประท้วงต่อยูฟ่าและสโมสรต่างๆภาระตั๋วเข้าชมเกมดังกล่าวสูงถึง 100 ยูโร

ลิเวอร์พูล – กับแคมเปญ “ 77 ”

หลังจากการประท้วงของแฟนบอลโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์และบาเยิร์น มิวนิค โมเดลการประท้วงได้ถูกนำมาใช้ในอังกฤษบ้าง ที่ประสบปัญหาเรื่องตั๋งแพงมายาวนานหลายปีและเริ่มประท้วงกันตั้งแต่ปี 2013 แล้ว แต่จุดเริ่มต้นที่เป็นกระแสดังขึ้นนั้น มาจากทีมมหาชนอย่าง ลิเวอร์พูล

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกม ลิเวอร์พูล เตะกับซันเดอร์แลนด์ ในปี 2016

หลังจากเกมผ่านไป 77 นาที แฟนบอลลิเวอร์พูล ได้ประท้วงโดยการเดินออกจากสนามแอนฟิลด์ เพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากราคาค่าตั๋วบางแสตนด์จะขึ้นไปเป็น 77 ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากราคา 59 ปอนด์ในฤดูกาลหน้า

มีการร้องเพลงเพื่อประท้วงเจ้าของทีม โดยมีเนื้อร้องว่า

“Enough is enough, you greedy bastards, enough is enough”

แปลเป็นไทยแบบตรงๆ ว่า “พอกันที ไอลูก* โลภมาก พวก*ไม่ทนแล้ว”

และนี่เป็นการเดินออกจากสนาม หรือ Walk out ของแฟนบอลจากแอนฟิลด์ ครั้งแรกในรอบ 132 ปี

ในครั้งนี้ มีนักเตะลิเวอร์พูล อย่าง เจมี คารราเกอร์ เข้าร่วมประท้วงด้วย

Twenty’s Plenty คืออะไร

เป็นแคมเปญงจากปรากฏการณ์แฟนฟุตบอลสโมสรทั่วสหราชอาณาจักร รณรงค์ทำป้ายแบนเนอร์เพื่อเรียกร้องให้สโมสรของพวกเขาลดราคาตั๋วเข้าชมและมีราคาจับต้องได้สำหรับแฟนบอลมากขึ้น

โครงการ Twenty’s Plenty เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เป็นการรนรงณ์เพื่อเรียกร้องให้สโมสรช่วยบรรเทาราคาค่าตั๋วให้แก่แฟนบอล โดยนโยบายกำหนดไว้ว่า ราคาตั๋วทีมเยือนต้องถูกจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 20 ปอนด์เท่านั้น

โครงการ Twenty’s Plenty เป็นโครงการที่ร่วมมือกันโดย Football Supporters Federation (FSF) and Virgin Media ในประเทศอังกฤษ เพื่อเรียกร้องต่อให้ลดค่าตั๋วของสโมสรลง โดยมีแฟนสโมสรเข้าร่วมรณรงค์กว่า 30 กว่าแห่งในตอนนั้นและเห็นพ้องต้องกันว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้มีการจัดมาตรการพิเศษเพื่อดูแลเรื่องค่าตั๋วในเกมเยือนของฟุตบอลลีกสูงสุดอังกฤษ

ถามว่า ทำไมต้องลดให้แก่ทีมเยือนล่ะ ก็เพราะว่าแฟนทีมเยือนต้องเสียค่าเดินทาง ค่ารถไฟ ไหนจะค่ากิน ค่าโรงแรม แถมมีค่าตั๋วแพงแสนแพงอีก

สมมติว่าการตามไปเชียร์ทีมรักในแต่ละฤดูกาล พวกเขาต้องเดินไปลอนดอน 4-5 เที่ยว ลิเวอร์พูล 2 เที่ยว แมนเชสเตอร์ 2 เที่ยว ไหนจะเมืองอื่นๆในประเทศอีกหลาย 10 นัด

ยิ่งหากเป็นแฟนบอลทีมเล็กๆ การที่จะต้องนั่งรถไฟ 2-6 ชั่วโมงเพื่อไปเชียร์ทีมและอาจจะต้องโดนถล่มจากทีมยักษ์ใหญ่ก็ยิ่งเจ็บช้ำเข้าไปใหญ่

แฟนบอลทีมเยือนถือว่าเป็นสเน่ห์ของฟุตบอลอังกฤษ การเดินทางไปที่ต่างๆเพื่อชมเกม แฟนบอลพันธุ์แท้เหล่าจะนี้ส่วนมากจะดื่มกันกรึ่มๆตั้งแต่ตอนบ่ายๆ เกาะกลุ่มร้องเพลงเชียร์เสียงดังก่อนแข่ง นำธงสโมสรไปแขวนตามสถานที่ชุมชนก่อนเริ่มเกม และที่สำคัญ แรงเชียร์ของแฟนบอลเหล่านี้มักเสียงดังเพื่อเชียร์ทีมรักเมื่ออกนอกบ้าน บางทีเสียงดังกว่าแฟนบอลทีมเหย้าทั้งสนามด้วยซ้ำ

อันที่จริง พรีเมียร์ลีกก็ไม่ได้ละเลยในจุดนี้ซะทีเดียว ย้อนกลับไปในปี 2013 พรีเมียร์จัดโครงการ Away Supporters Initiative (ASI) ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลืออุดหนุนให้แฟนบอลมาชมเกมทีมเยือนมากขึ้น เป็นจำนวนเงินกว่า 2 แสนปอนด์ ต่อฤดูกาล โดยมอบให้แก่สโมสรเพื่อนำไปช่วยแฟนบอล อาทิ ช่วยเหลือค่าเดินทาง หรือโปรโมชั่นตั๋ว แล้วแต่สโมสรที่ได้รับการจัดสรรจะจัดการ ผลสำเร็จของของโครงการนี้ คือ สามารถเพิ่มยอดเข้าชมของแฟนทีมเยือนได้ถึง 9% ใน 3 ปี

อย่างไรก็ดี FSF ยังไม่พอใจและยืนหยัดในจุดยืนของตัวเองที่ยึดมั่นเอาไว้

โดยข้อเสนอของกลุ่ม FSF อาทิ การให้จำกัดเพดานค่าตั๋วชมเกมเยือนให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 20 ปอนด์ รวมถึงขอให้ทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกแบ่งเงิน 1 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาลเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่แฟนบอลเมื่อต้องออกไปเชียร์ทีมโปรดในนัดเยือน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวต้องให้แฟนบอลมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วยว่าจะใช้ไปในการช่วยเหลือแฟนบอลในรูปแบบได้บ้าง

อีกทั้ง กลุ่ม FSF ยังขอให้ทุกสโมสรพิจารณาประเด็นค่าตั๋วในเกม และห้ามมิให้สโมสรมีการปรับเปลี่ยนหรือลดโควต้าของตั๋วทีมเยือน

มีกลุ่มแฟนบอลจากสโมสรต่าง อาทิ Boys1991 ที่เป็นแฟนบอลทีมเวสต์แฮม กลุ่ม Blue Union แฟนบอลทีมเอฟเวอร์ตัน และแฟนจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คริสตัลพาเลซ บอร์นมัธ และทีมต่างๆ ได้สนับสนุนข้อเสนอ FSF

ในที่สุด การรณรงค์ของกลุ่ม FSF ก็สำเร็จผล ในปี 2017 สโมสรต่างๆในพรีเมียร์ลีก โหวตลงมติเห็นชอบในการควบคุมราคาตั๋วทีมเยือนโดยมีราคาไม่เกิน 30 ปอนด์ โดยแฟนบอลใช้เงินซื้อตั๋วเข้าชมเกมเป็นเงิน 20 ปอนด์เท่านั้น โดยส่วนที่เกินมา Virgin Media จะเป็นผู้อุดหนุนให้

หลังจากการนำแคมเปญ Twenty’s Plenty มาใช้ควบคุมราคา การเดินทางไปชมเกมเยือนสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยตัวเลขจากพรีเมียร์บอกว่า ตั๋วเข้าชมเฉลี่ยตลอดฤดูกาลสูงถึง 96% เป็นสถิติสูงสุดของพรีเมียร์ลีก นอกจากนี้ ยังสามารถเซพเงินในกระเป๋าของแฟนบอลไปได้หลายล้านปอนด์ตลอด 3 ปี

หลังจาก Twenty’s Plenty ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในเดือนกันยายนปี 2019 สโมสรในพรีเมียร์ลีกทั้ง 20 ทีม ลงมติเห็นชอบ ให้รักษาราคาไม่เกิน 30 ปอนด์ไปอีก 3 ฤดูกาลจนถึงปี 2022

นี่คือเรื่องราวอันงดงามของการประท้วงโดยสันติ ที่เกิดจากการขัดแย้งกัน จนสุดท้ายมีข้อสรุปลงตัว ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และที่ได้ที่สุดก็คือ ทุกๆคนที่ชอบฟุตบอลนั่นแล

support

support

แชร์เนื้อหา