รากฐานที่สำคัญของเชลซี Loan Army Part 2 | TunGame

Loan Army Part 1 ตามไปอ่านอันนี้ได้ก่อนเลย
ยุคแห่งคอปแฮม (ต่อ)
นักเตะเยาวชนหลายต่อหลายคนถูกซื้อตัวมาเพื่อบ่มเพาะในคอปแฮมในช่วงระหว่างปี 2014-2019 เช่น เบอร์ทรานด์ ตราโอเล่, มาร์ซิน บัลก้า ต่างถูกตั้งความหวังเพื่อก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ยังไม่รวมถึงผลผลิตจากคอปแฮมโดยตรง เช่น โดมินิก โซลันเก้, โอลา ไอน่า, ลูอิส เบเกอร์ ที่ต่างก็ประสบความสำเร็จทั้งตอนเล่นระดับเยาวชนและโชว์ฟอร์มได้ดีระหว่างออกไปยืมตัว
แต่ถึงอย่างนั้นจนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครที่สามารถก้าวขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ได้ จะมียกเว้นเพียงแค่ 1 คนนั่นคือ อันเดรส คริสเตนเซ่น เนื่องจากในยุคนั้นผู้จัดการทีมอย่างโชเซ่ มูรินโญ่ และ อันโตนิโอ คอนเต้ เน้นไปที่การใช้งานนักเตะที่มีประสบการณ์และดูไม่มีท่าทีจะสนใจใช้งานนักเตะดาวรุ่งเท่าไรนัก ทำให้นักเตะดาวรุ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องย้ายทีมออกไปเพื่อโอกาสการเล่นเป็นตัวจริง ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็ยังทำเงินให้สโมสรได้มากอย่างที่ Loan army ควรทำได้
แต่สิ่งที่เชลซีไม่รุ้ในตอนนั้นคือ ทิศทางการปั้นนักเตะของสโมสรนั้นมาถูกทางแล้ว และสิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นมีเพียงแค่ผู้จัดการทีมสักคนที่พร้อมจะให้โอกาสผู้เล่นเหล่านี้ และคนๆนั้นก็เป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับสโมสรมากอย่างที่พวกเขาเองก็คงคาดไม่ถึง
ความสำเร็จที่แท้จริง
เมื่อเชลซีถูกแบนจากการห้ามลงทะเบียนนักเตะใหม่ในฤดูกาล 2019-20 หลายคนเชื่อว่านั่นจะเป็นจุดตกต่ำของสโมสร แต่การเข้ามาของชายที่ชื่อแฟรงค์ แลมพาร์ด กลับเปลี่ยนแปลงสโมสรสู่ทิศทางใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นักเตะในระบบ Loan army ที่คิดว่าจะโดนขายเพื่อทำกำไรอย่างเดิม กลับกลายเป็นนักเตะกำลังหลักของทีมชุดใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
นักเตะอย่างเมสัน เมาท์ และ รีซ เจมส์ เรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นที่ทีมขาดไม่ได้ ขณะที่ฟิกาโย โทโมริและแทมมี่ อับราฮัมก็มีบทบาทกับทีมพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการที่เชลซีไม่สามารถเสริมทัพเพิ่มเติมได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการพิสูจน์ว่าระบบ Loan army ที่สโมสรฟูมฟักมานานนั้นประสบความสำเร็จในการพัฒนานักเตะจากระดับเยาวชนสู่การเป็นนักเตะในระดับแนวหน้า เพราะรายชื่อนักเตะที่กล่าวมานั้นต่างผ่านการยืมตัวมาแล้วทั้งสิ้น
ถึงแม้แลมพาร์ดจะได้คุมทีมเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของโทมัส ทูเคิ่ล เขาก็ยังเชื่อมั่นนักเตะในระบบ Loan army และนักเตะเหล่านั้นก็ไม่ทำให้ผู้จัดการทีมต้องผิดหวัง ทั้งเทรเวอร์ ชาโลบาห์และรูเบน ลอฟตัส ชีคต่างก็เข้ามาเพิ่มตัวเลือกให้แก่กุนซือชาวเยอรมัน นั่นทำให้เชลซีมีทางเลือกในการเสริมทัพมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเสริมนักเตะโฮมโกรนเหมือนสโมสรบิ๊กซิกส์ทีมอื่น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องโควตาโฮมโกรนอีกต่อไป และเนื่องจากคุณภาพนักเตะในระบบ Loan army ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สโมสรสามารถขายผู้เล่นเหล่านี้เพื่อทำกำไรอย่างมหาศาลกว่าเมื่อก่อน อย่างเช่น มาร์ค กูเอฮี ที่ขายให้คริสตัล พาเลซ 20 ล้านปอนด์ทั้งๆที่เพิ่งได้เล่นฟุตบอลในระดับแชมเปี้ยนชิพเพียงฤดูกาลครึ่งเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าสโมสรอื่นๆต่างก็เชื่อมั่นในคุณภาพของ Loan army และยินดีที่จะจ่ายค่าตัวตามที่เชลซีเรียกร้อง และเงินค่าตัวมากมายเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เชลซีสามารถผ่านกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ได้อยู่ตลอด
การลาออกจากตำแหน่งของมารีน่า กรานอฟสกาย่า และการเปลี่ยนกฎการยืมตัวของฟีฟ่าที่กำหนดให้แต่ละสโมสรปล่อยนักเตะออกไปยืมตัวอย่างจำกัดนั้น ทำให้เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบ Loan army อีกครั้ง แต่เชื่อว่าด้วยระบบเยาวชนที่แข็งแกร่งของคอปแฮมรวมถึงวิสัยทัศน์ของเจ้าของทีมอย่างท็อดด์ โบห์ลี่ จะทำให้เชลซีสามารถรักษาความแข็งแกร่งทั้งในและนอกสนามได้ต่อไป และระบบ Loan army ก็จะทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญของสโมสรต่อไปอย่างแน่นอน
Team Social
แชร์เนื้อหา