“ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก” แพ้กระแสหรือแค่ยาแรง | TunGame

มหากาพย์ “ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก” ดูท่าจะจบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทีมสมาชิกกว่าครึ่งหนึ่งต้านทานกระแสไม่ไหว และประกาศถอนตัวจากโปรเจคนี้หลังจากที่มีการแถลงเข้าร่วมไปเพียง 48 ชั่วโมงโดยประมาณ

6 สโมสรยักษ์ใหญ่จากเกาะอังกฤษได้แถลงการณ์ขอถอนตัวจากโปรเจค ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก อย่างเป็นทางการแล้ว นำทัพโดย เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ออกตัวประกาศถอนตัวเป็น 2 ทีมแรก ตามด้วย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล, ลิเวอร์พูล และท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์

2 ทีมจากเมืองมิลานอย่าง อินเตอร์ มิลาน และ เอซี มิลาน ก็มีข่าวว่าเตรียมจะถอนตัวด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

ส่วน 3 ทีมจากสเปนอย่าง รีล มาดริด (ตัวตั้งตัวตีของโปรเจคนี้), บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก มาดริด และตัวแทนจากอิตาลีอย่าง ยูเวนตุส ยังไม่มีท่าทีจะประกาศการออกจากโครงการนี้

คำถามที่ตามมาหลังจากอภิมหาโปรเจค “ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก” ที่ออกตัวแรงขนาดนี้แต่กลับต้องพับแผนภายในไม่กี่วันหลังจากที่ออกโรงประกาศตัวออกมาคือ ความล้มเหลวนี้เกิดจากความผิดพลาดในการวางแผนโดยขาดการคำนึงถึงกระแสด้านลบที่จะตามมา หรือแท้ที่จริงแล้ว เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงยาแรงที่ทั้ง 12 ทีมงัดมาเพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนที่มากขึ้นจากยูฟ่ากันแน่?

ต้านทานกระแสไม่ไหว?

หลังจากที่ได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงแผนการริเริ่มการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสต่อต้านโครงการนี้จากแทบทุกฝ่ายในวงการฟุตบอลถาโถมเข้าใส่ทั้ง 12 ทีมที่เข้าร่วมอย่างหนักหน่วง

แฟนบอลส่วนใหญ่ต่างที่ไม่พอใจกับโปรเจคนี้ และได้ทำการประท้วงทีมของตัวเองอย่างหนักทั้งในและนอกโซเชียลมีเดีย

ตัวอย่างในรายของเชลซี แฟนบอลถึงขั้นรวมตัวปิดล้อมทางเข้า แสตมฟอร์ด บริดจ์ ไม่ให้รถบัสของทีมเดินทางเข้าสู่สนามเพื่อทำการแข่งขันในเกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เพื่อเป็นการประท้วงที่ทีมรักเข้าร่วมโปรเจคดังกล่าว ลำบากถึง ปีเตอร์ เช็ก ตำนานผู้รักษาประตูของทีมที่ปัจจุบันทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคให้กับทีม ที่ต้องออกโรงมาเจรจากับกลุ่มแฟนบอลที่มาประท้วงด้วยตัวเอง กว่าสถาณการณ์จะคลี่คลายก็ทำให้เกมต้องถูกเลื่อนเวลาแข่งขันออกไป

กระแสกดดันจากทั้งนักฟุตบอลที่ยังค้าแข้งอยู่หรือเลิกเล่นไปแล้วมากมายต่างออกมาประณามและแสดงจัดยืนในการต่อต้านโปรเจค ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก นี้ผ่านสื่อต่างๆ รวมไปถึงสมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศ และทีมสโมสรร่วมลีกของทั้ง 12 ทีมต่างก็ออกแถลงการณ์กดดันให้ทั้ง 12 ทีมยุติและถอนตัวออกจากโครงการนี้ทั้งสิ้น

กระแสด้านลบทั้งหมดที่ถาโถมเข้าใส่นี้ อาจจะทำให้หลายทีมตระหนักได้ถึงผลเสียที่ได้เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโปรเจคนี้ และอาจจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหากยังดันทุรังเดินหน้าต่อไป จนทำให้หลายสโมสรรีบถอนตัวจากโครงการนี้

เรื่องที่น่าคิดมีอยู่ว่า เหล่าผู้บริหารของทีมเหล่านี้ไม่ได้คำนึงถึงกระแสที่จะตามมาตั้งแต่ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมเลยหรือ? แน่นอนว่าหลักคิดแรกเริ่มเดิมทีในการจัดตั้ง ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก มีผลประโยชน์ทางการเงินเป็นที่ตั้ง แต่มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยากเลยว่ากระแสตอบรับจะออกมาเลวร้ายกันอย่างที่เห็น ซึ่งเหล่าเจ้าของทีมต่างๆก็ล้วนเป็นนักธุรกิจ น่าจะมีการคิดคำณวนปัจจัยนี้เข้าไปในความเป็นไปได้ของโครงการอยู่แล้ว

หรือจะเป็นไปได้ไหมว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจัดฉากเพื่อใช้ยาแรงในการกดดัน ยูฟ่า ให้เพิ่มค่าตอบแทนที่พวกเขาต้องการจากรายการ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก?

หรือเรื่องทั้งหมดเป็นแค่ “ยาแรง”?

เป็นที่รู้กันว่าแผนการจัดตั้ง ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก มีต้นเหตุที่แท้จริงมาจากผลประโยชน์ที่ไม่น่าพึงพอใจที่ทีมยักษ์ใหญ่ได้จาก ยูฟ่า จากการเข้าร่วมการแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก

เชื่อว่าทาง ยูฟ่า เองก็ไม่นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ จึงเกิดเป็นแผนการปรับรูปแบบรายการ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาล 2024/2025

โดยในการแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รูปแบบใหม่จะมีการเพิ่มจำนวนทีมที่เข้าร่วมในแต่ฤดูกาล รวมถึงจำนวนเกมการแข่งขันที่มากขึ้นต่อฤดูกาล ที่จะนำมาซึ่งรายได้จากการแข่งขันที่มากขึ้น เพื่อที่ว่า ยูฟ่า จะนำเงินส่วนนี้มาแจกจ่ายให้แก่บรรดาสโมสรให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นเช่นกัน

แต่ก็ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้วแผนที่ ยูฟ่า นำเสนอก็ยังคงไม่เป็นที่มาพอใจสำหรับทั้ง 12 สโมสร โดยเฉพาะ ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรรีล มาดริด และหัวเรือใหญ่ของโครงการ ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก

เมื่อไม่ได้สิ่งที่อยากได้จาก ยูฟ่า ท้ายที่สุดจึงเกิดการแถลงการณ์จัดตั้ง ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก อย่างเป็นทางการ

ถึงแม้ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่า จะแสดงท่าทีในการต่อต้านและประณามการจัดตั้งยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก อย่างรุนแรงเพียงใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยูฟ่า ก็ขาดทั้ง 12 ทีมเหล่านี้จากการแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก หรือ ยูโรป้า ลีก ไม่ได้เช่นกัน และคงพยายามทำทุกอย่างให้ทั้ง 12 ทีมยอมกลับเข้ามาอยู่ในรูปแบบเดิมเช่นกัน

จากบทสัมภาษณ์ของ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน หลังจากที่ทีมจากอังกฤษทั้งหมดพร้อมใจกันถอนตัวจาก โรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก เนื้อความในบทสัมภาษณ์ไม่มีท่าทีกล่าวโทถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือบทลงโทษที่จะมีต่อสโมสรเหล่านี้ แต่เป็นการอ้าแขนรับทีมเหล่านี้กลับสู่วงโคจรเพื่อร่วมกันเดินหน้าต่อไป

จากเรื่องราวทั้งหมด ก็เหมือนจะมีความเป็นไปได้ว่าการประกาศเรื่อง ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก เป็นเหมือนยาแรงที่ทั้ง 12 ทีม ใช้มาเพื่องัดเพดานในการต่อรองเรื่องผลประโยชน์กับยูฟ่า เท่านั้น

ทั้งนี้ เรื่องนี้ก็ยังไม่จบบริบูรณ์สักทีเดียว เพราะยังมีอีก 4 ทีมยักษ์ใหญ่ที่ยังไม่มีทีท่าจะถอนตัวจาก ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก และในหนังสือฉบับล่าสุดที่ทาง ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ลีก ได้มีการแถลงหลังจากการถอนตัวของ 6 สโมสรจากอังกฤษ ไม่ได้ระบุเนื้อความถึงการยกเลิก หรือสิ้นสุด โครงการนี้แต่อย่างใด แต่มีเนื้อความไปในทาง หยุดพักเพื่อปรับปรุงรูปแบบ ซึ่งก็พอจะเป็นสัญญาณที่พวกเขาอยากจะบอก ยูฟ่า ได้ว่าพวกเขายังจะไม่หายไปไหน

เชื่อว่าสุดท้ายแล้วต่อให้แต่ละฝ่ายจะใช้วิธีอะไร หรือโจมตีกันรุนแรงเพียงใดผ่านสื่อ แต่ถ้าเกิดสามารถตกลงผลประโยชน์ที่น่าจะพึงพอใจกันได้ เรื่องทุกอย่างก็คงจบ

แต่ความเสียหายอย่างนึงที่เกิดขึ้นแล้วคือความเสียหายต่อ “ศรัทธา” ของแฟนบอลทั่วโลกที่ถูกทำลายไปแล้วจากเรื่องราวดังกล่าว ไม่มากก็น้อย

support

support

แชร์เนื้อหา