ประวัติศาสตร์วันบ็อกซิ่งเดย์ (Boxing Day) ใน พรีเมียร์ลีก | TunGame
ในที่สุดพรีเมียร์ลีกก็เดินทางมาถึงอีกหนึ่งไฮไลท์ประจำฤดูกาลอีกครั้งหลังจากที่ทุกๆปีฟุตบอลอังกฤษจะมีโปรแกรมการแข่งขันในช่วงปลายปีคาบเกี่ยวช่วงต้นปีอย่างต่อเนื่องซึ่งถึงแม้ว่าในฤดูกาลนี้จะทำการแข่งขันถี่ขึ้นกว่าปกติอยู่แล้วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส แต่ทันเกมก็อยากจะย้อนกลับไปเล่าประวัติความเป็นมารวมถึงความน่าสนใจของวันบ็อกซิ่งเดย์ (BoxingDay) ที่ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นในช่วงการแข่งขันสุดหฤโหดของนักฟุตบอลแต่สุดแสนหรรษาสำหรับแฟนบอลกัน
1. ความเป็นมาของวันบ็อกซิ่งเดย์ ในการแข่งขัน พรีเมียร์ลีก
อย่างที่รู้กันว่าบ็อกซิ่งเดย์จะตรงกับวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียพระองค์ทรงประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดเพื่อให้คนรับใช้หรือลูกจ้างในสมัยนั้นได้หยุดพักผ่อนหลังจากที่ต้องทำงานในวันคริสต์มาสให้กับนายจ้างของพวกเขาในขณะเดียวกันนายจ้างเองก็จะแจกกล่องของขวัญเพื่อตอบแทนและขอบคุณสำหรับการทำงานตลอดปีที่ผ่านมาซึ่งท้ายที่สุดพวกเขาก็จะกลับไปแกะกล่องของขวัญกับครอบครัวในวันนั้นปัจจุบันประเทศในสหราชอาณาจักรรวมถึงประเทศที่เคยอยู่ในเครีอจักรภพเช่น ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ และแคนาดา ก็ยังคงเฉลิมฉลองและประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดประจำปี
2. ฟุตบอลในวันบ็อกซิ่งเดย์ พรีเมียร์ลีก …กิจกรรมที่ขาดไม่ได้ ของ พรีเมียร์ลีก
การแข่งขันฟุตบอลเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับวันแกะกล่องของขวัญตั้งแต่ค.ศ. 1860 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการฟาดแข้งในวันที่ 26 ธันวาคม โดยสองสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างเชฟฟิลด์เอฟซี กับ อัลแล่ม เอฟซี โคจรมาเจอกันในวันนั้นและจบลงด้วยการที่เชฟฟิลด์เอฟซีเอาชนะไปด้วยสกอร์ 2 ประตูต่อ0 นอกจากนี้แมทช์ดังกล่าวยังถูกจารึกว่าเป็นดาร์บี้แมทช์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วยต่อมาการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษก็เริ่มต้นสู่การเล่นแบบระบบลีกในฤดูกาล 1888-1889 ซึ่งการแข่งขันในวันบ็อกซิ่งเดย์ก็ถูกบรรจุในโปรแกรมการแข่งขันในฤดูกาลแรกเช่นเดียวกันโดยคู่แรกที่เกิดขึ้นเป็นเกมส์ที่เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ ถล่ม ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ไป 5 ประตูต่อ 0 หลังจากนั้นโปรแกรมในวันที่ 26 ธันวาคมก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับฟุตบอลลีกนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ที่น่าสนใจคือนอกจากวันบ็อกซิ่งเดย์แล้วในสมัยก่อนสโมสรต้องลงทำการแข่งขันในวันคริสต์มาสด้วย ซึ่งหมายความว่านักเตะจะต้องลงสนามสองวันติดต่อกันเพื่อสร้างความสุขให้แก่แฟนบอลโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นแรงงานที่จะมีโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในสนามเฉพาะช่วงนี้เท่านั้นหลังจากต้องทำงานหนักมาตลอดปีอย่างไรก็ตามด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปซึ่งผู้คนเริ่มเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสด้วยการอยู่กับครอบครัวมากว่าการที่จะตะลอนออกไปข้างนอกรวมถึงระบบคมนาคมที่มีจำกัดมากขื้นเรื่อยๆส่งผลให้การแข่งขันในวันที่ 25 ธันวาคมค่อยๆจางหายไปตั้งแต่ช่วงช่วงปลายทศวรรษที่ 50 ต่อช่วงทศวรรษที่ 60 โดยเกมส์ลีกสูงสุดนัดสุดท้ายที่เล่นกันในวันคริสต์มาสคือเกมส์ที่แบล็คเบิร์นโรเวอร์สเปิดบ้านพบกับแบล็คพูล
ถึงแม้เกมส์ในวันคริสต์มาสจะหายไปแต่การฟาดแข้งในวันบ็อกซิ่งเดย์ก็ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแฟนบอลจนถึงปัจจุบันโดยผู้จัดตารางการแข่งขันจะพยายามจัดตารางให้สโมสรแต่ละสโมสรเตะกันใกล้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อที่แฟนบอลจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลรวมถึงจะได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อนสนิทได้อย่างเต็มที่ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ซึ่งจะสังเกตุได้จากทุกปีว่าถ้าสโมสรไหนไม่ได้เล่นในบ้านในวันบ็อกซิ่งเดย์ พวกเขาก็จะกลับไปเล่นในรังของตัวเองในช่วงขึ้นปีใหม่
3. บ็อกซิ่งเดย์…มหกรรมการยิงประตู พรีเมียร์ลีก
วันบ็อกซิ่งเดย์ถือเป็นวันที่สร้างความสุขให้แฟนบอลอย่างแท้จริงเพราะนอกเหนือจากจะได้แกะกล่องของขวัญร่วมกับครอบครัวแล้วพวกเขาก็ยังได้เพลิดเพลินไปกับการดูการซัลโวประตูกันอย่างกระจุยกระจายในวันดังกล่าวอย่างเช่นในปี 1963 ที่มีการทำประตูไปถึง66 ประตู จาก 10 เกมส์การแข่งขันโดยมีแมทช์ที่ซัดกันไปอย่างมโหฬารหลายๆแมทช์อาทิ
– ฟูแล่ม 10 – อิปสวิช ทาวน์ 1
– เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 2 – แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส 8
– ลิเวอร์พูล 6 – สโต๊ค ซิติ้ 1
– เบิร์นลีย์ 6 – แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1
– เชลซี 5– แบล็คพูล 1
ถ้าตัดภาพมาในศึก พรีเมียร์ลีก ปัจจุบันก็มีเกมส์ที่ทำประตูกันอย่างเป็นกอบเป็นกำและยังอยู่ในความทรงจำของแฟนบอลไม่ว่าจะเป็นเกมส์ในปี 2000 ที่อาร์เซน่อลเปิดไฮบิวรี่ถล่มเลสเตอร์ซิติ้เละเทะ 6 ประตูต่อ 1 ซึ่ง เธียร์รี่ อองรีทำแฮตทริกแรกของเขาภายใต้สีเสิ้อไอ้ปืนใหญ่ได้ในเกมส์นั้น เกมส์ในปี 2003 ที่เชลซีเวอร์ชันเสี่ยหมีฤดูกาลแรกออกไปพลิกล็อคพ่ายชาร์ลตัน แฮธเลติกด้วย สกอร์ 4 ประตูต่อ 2, เกมส์ในปี 2007 ที่แอสตันวิลล่าเปิดบ้านเสมอกับเชลซีไปอย่างสุดมันส์ด้วยสกอร์ 4 ประตู ต่อ 4 แถมพ่วงด้วยอีก 3 ใบแดง และเกมส์ในปี 2012 ที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกลับมาโกงความตายด้วยการพลิกชนะนิวคาลเซิ่ลยูไนเต็ดในช่วงทดเวลาบาดเจ็บด้วยสกอร์ 4 ประตูต่อ3
4.แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด…แชมป์วันแกะกล่องของขวัญ พรีเมียร์ลีก
สกายสปอร์ตได้จัดอันดับทีมที่อยู่ใน 4 ดิวิชันสูงสุดของประเทศที่มีเปอร์เซ็นต์ชนะมากที่สุดในวันบ็อกซิ่งเดย์ ซึ่งปรากฏว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเป็นทีมที่มีเปอร์เซ็นต์ชนะมากที่สุดในวันดังกล่าวอยู่ที่ 54.35 เปอร์เซ็นต์ จากชัยชนะ 50 นัดจาก 92 เกมส์ที่เหล่าพลพรรคแข้งปีศาจแดงทำการแข่งขัน นอกจากนี้ถ้านับเฉพาะทีมในพรีเมียร์ลีกแมนยูไนเต็ดก็ยังเป็นทีมที่เก็บแต้มได้มากที่สุดในวันบ๊อกซิ่งเดย์อีกด้วย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือว่าลิเวอร์พูลเป็นอีกแค่หนึ่งทีมเท่านั้นจากลีกสูงสุดที่ติด 10 อันดับแรกของทีมที่มีเปอร์เซ็นต์ชนะสูงสุดอยู่ที่ 45.88 เปอร์เซ็นต์ จาก 88 นัดที่ลงเล่น
5. แฮร์รี่ เคน กับการตามล่าสถิติใหม่ ใน พรีเมียร์ลีก
ถ้ามาดูทำเนียบนักเตะ พรีเมียร์ลีก ที่ทำประตูได้มากที่สุดในวันบ็อกซิ่งเดย์ร็อบบี้ ฟาวเลอร์อดีตกองหน้าซ้ายสั่งตายของลิเวอร์พูลนั้นครองสถิติปัจจุบันด้วยการซัดไป 9 ประตู ส่วนอันดับสองมีอยู่ 3 คน ได้แก่ อลัน เชียร์เรอร์, ร็อบบี้ คีน และ แฮร์รี่ เคน ด้วยการยิงไปทั้งสิ้น 8 ประตู ถึงแม้ปีนี้เคนจะไม่ได้ลงเล่นในวันบ็อกซิ่งเดย์เพราะต้นสังกัดอย่างท็อตแนมฮ็อทสเปอร์ มีโปรแกรมแข่งกับวูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์สในวันที่ 27 ธันวาคม แต่สถิตินี้ก็คงถูกทำลายโดยศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษผู้นี้ไม่ช้าก็เร็ว (ถ้าไม่ย้ายไปเล่นต่างแดน) หลังจากที่เขาตะบันไปแล้ว 8 ประตูจากการเล่นในวันบ็อกซิ่งเดย์ไปแค่ 5 เกมส์เท่านั้น
support
แชร์เนื้อหา